Health/Beauty Secret    
 
  Contact us  
     
  No. 2 Rama 2 Soi 30 
(Section 3) Jomthong Bangkok, Thailand, 10150
 
 
   
Phone  : +66 2450 0211
  +66 84454 8455
  +66 83303 5588
Fax  : +66 2450 0214
 
 
   
Email:

kingpharmaandnutrient@gmail.com

 
     
   
     
 
โรคอ้วน โดย พ.อ.หญิง พญ. อภัสนี บุญญาวรกุล อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคต่อมไร้ท่อ
Post By Admin [ เมื่อ : 12 ก.พ. 58 12:35:39 ]
 
 

ชื่อเรื่อง : โรคอ้วน
Article : พ.อ.หญิง พญ. อภัสนี บุญญาวรกุล อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคต่อมไร้ท่อ

คำจำกัดความ
โรคอ้วน (Obesity) เกิดจากการมีปริมาณไขมันในร่างกายเพิ่มขึ้น ปกติเพศหญิงจะมีปริมาณไขมันประมาณร้อยละ 25-30 ส่วนเพศชายจะมีไขมันร้อยละ 18-23 ดังนั้นในเพศชายและเพศหญิงที่มีปริมาณไขมันมากกว่าร้อยละ 25 และร้อยละ 30 ขึ้นไปจะถูกจัดว่าเป็นโรคอ้วน โดยส่วนมากในเพศชายจะมีการสะสมของไขมันที่บริเวณเอว เรียกว่าอ้วนลงพุงหรืออ้วนแบบลูกแอปเปิ้ล ส่วนในเพศหญิงไขมันมักจะสะสมที่บริเวณสะโพกและต้นขา เรียกว่าอ้วนแบบลูกแพร์
ที่สำคัญในคนที่อ้วนลงพุงมักจะมีปริมาณไขมันในอวัยวะภายในเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผู้ที่อ้วนไม่ลงพุง
ส่วนภาวะอ้วนลงพุงนั้นจะหมายถึง ผู้ที่มีภาวะอ้วน ร่วมกับเส้นรอบเอวตั้งแต่ 90 เซนติเมตรในเพศชาย และตั้งแต่ 80 เซนติเมตรในเพศหญิง

สาเหตุของโรคอ้วน
โรคอ้วนเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

* ปัจจัยทางกรรมพันธุ์ โดยพบว่าโรคอ้วนเป็นปฏิกิริยาระหว่างยีนหลายชนิด รวมทั้งปัจจัยทางพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม โดยสิ่งแวดล้อมที่ทำให้คนอ้วนก็ได้แก่ การออกกำลังกายน้อย แต่รับประทานอาหารมาก

* การรับประทานยาบางชนิด ก็อาจส่งผลกระทบให้อ้วนได้ เช่น การได้รับฮอร์โมนสเตียรอยด์เป็นเวลานาน หรือในผู้หญิงที่ฉีดยา หรือรับประทานยาคุมกำเนิด

* โรคทางต่อมไร้ท่อ (ภาวะที่มีฮอร์โมนบางชนิดผิดปกติ เช่น มีคอร์ติโคสเตียรอยด์มากเกิน กลุ่มอาการคุชชิ่ง (cushing’s syndrome) ไทรอยด์ฮอร์โมนน้อยกว่าปกติ หรือภาวะไฮโปไทรอยด์ (hypothyroidism)

* ความผิดปกติบริเวณสมองส่วนไฮโปทาลามัส ซึ่งจะกระตุ้นให้มีการรับประทานอาหารมากขึ้นและอ้วนได้

     อย่างไรก็ตาม สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคอ้วนจะเกิดจากการที่ร่างกายใช้พลังงานไปน้อยกว่า พลังงานที่ได้รับเข้าไปในร่างกาย และผู้ที่มีพ่อแม่อ้วนก็มีความเสี่ยงที่จะอ้วนมากกว่าคนทั่วไป

การวินิจฉัยโรคอ้วน
โรคอ้วนสามารถวินิจฉัยได้ด้วยการวัดปริมาณไขมันในร่างกายโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed tomography Scan) และการใช้ Bioelectrical impedance (BIA) แต่การใช้เครื่องมือดังกล่าวจะทำได้ในบางสถานที่ ดังนั้นจึงนิยมใช้การคำนวณดัชนีมวลกาย (body mass index, BMI) เป็นเครื่องมือสำคัญ ด้วยการใช้ค่าน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมหารด้วยความสูงเป็นตารางเมตร เช่น น้ำหนัก 70 กิโลกรัม ความสูง 160 เซนติเมตร ดัชนีมวลกายจะเท่ากับ 70 กิโลกรัม / (1.5 เมตร x1.5 เมตร) เท่ากับ 31 กิโลกรัม/ตารางเมตร โดยประชากรทางเอเชียที่มีดัชนีมวลกายเท่ากับหรือมากกว่า 23 กิโลกรัม/เมตร2 จะจัดว่ามีภาวะน้ำหนักเกิน และหากมีดัชนีมวลกายเท่ากับหรือมากกว่า 25 กิโลกรัม/เมตร2 จะจัดว่าเป็นภาวะอ้วน ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจประชากรไทยครั้งที่ 4 ปี พ.ศ.2551-2552 พบว่าประชากรไทยเป็นโรคอ้วนร้อยละ 36.7

ภาวะแทรกซ้อนของโรคอ้วน
โรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลายชนิด ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคนิ่วในถุงน้ำดี ความผิดปกติของไขมันในเลือดโดยระดับไขมันชนิดดี คือ เอชดีแอล ต่ำ ( low HDL-C คือ เพศชาย น้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เพศหญิง น้อยกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง (คือมากกว่าหรือเท่ากับ 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) โรคเบาหวาน โดยความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จะสัมพันธ์กับระดับความอ้วนและระยะเวลาของความอ้วน คือผู้ที่อ้วนเล็กน้อยจะมีโอกาสเกิดโรคเบาหวานได้มากกว่าคนทั่วไป 2 เท่า ถ้าอ้วนปานกลางจะมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น 5 เท่า แต่ถ้าอ้วนมากๆ จะมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า นอกจากนี้ยังอาจจะทำให้เกิดความผิดปกติทางฮอร์โมน เช่น ทำให้ประจำเดือนมาน้อยกว่าปกติ หรือขาดหายไปในเพศหญิง ความรู้สึกทางเพศลดลงในเพศชาย

นอกจากนี้พบว่าโรคอ้วนทำให้การทำงานของปอดลดลง คนอ้วนจึงมีความลำบากในการหายใจเข้าและออก เนื่องจากไขมันที่มากขึ้นบริเวณรอบทรวงอกจะขัดขวางการขยายตัวของทรวงอก และไขมันที่ท้องก็จะทำให้กระบังลมไม่สามารถหย่อนตัวลงมาได้ปกติ ทำให้เหนื่อยง่ายโดยเฉพาะในท่านอน ทำให้หายใจลำบาก บางครั้งจะหยุดหายใจเป็นพักๆ ในขณะนอนหลับ เรียกว่า sleep apnea syndrome อาการคือปวดศีรษะในเวลาเช้า ง่วงนอนและหายใจช้าในเวลากลางวัน หรือพบข้ออักเสบ โดยพบบ่อยในข้อเข่าที่ต้องรับน้ำหนักตัวมาก และสามารถพบโรคมะเร็งได้มากขึ้น โดยพบว่าในผู้ชายที่อ้วนจะมีโอกาสเกิดมะเร็งของลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก และต่อมลูกหมาก ส่วนในผู้หญิงอ้วนมีโอกาสเกิดมะเร็งของถุงน้ำดี มดลูก ปากมดลูก รังไข่ และเต้านม มากกว่าคนปกติ

ประโยชน์ที่ได้จากการลดน้ำหนัก
การลดน้ำหนักไม่จำเป็นต้องลดน้ำหนักลงจนปกติ การลดน้ำหนักลงร้อยละ 5-10 ของน้ำหนักเริ่มต้นจะมีผลดีต่อสุขภาพทั้งปัจจุบันและอนาคต เพราะจะทำให้ระดับไขมันในเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับความดันโลหิตลดลง และลดอาการของผู้ป่วยโรคอ้วน เนื่องจากเมื่อน้ำหนักลดคนอ้วนจะรู้สึกแข็งแรงขึ้น แจ่มใสขึ้น อาการเหนื่อยง่ายจะดีขึ้น อาการแน่นหน้าอกจากโรคหัวใจ ประจำเดือนผิดปกติก็ดีขึ้น คุณภาพชีวิตและความมั่นใจดีขึ้น รวมถึงยังทำให้ผู้ป่วยมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น ไม่เหนื่อยง่าย สามารถออกกำลังกายได้ดีขึ้น สุขภาพในระยะยาวดีขึ้น เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลง อายุเฉลี่ยยาวขึ้น เนื่องจากโอกาสการตายจากโรคหัวใจและมะเร็งลดลง

การรักษา
การรักษาโรคอ้วน โดยทั่วไปประกอบด้วย

1. การควบคุมอาหาร การลดน้ำหนักคือการลดพลังงานที่รับประทาน มากกว่าการจำกัดอาหารประเภทใด
ประเภทหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการใช้สูตรอาหารคาร์โบไฮเดรตน้อย โปรตีนสูง หรือสูตรใดๆก็ตาม เพราะเมื่อผ่านไปประมาณ 6 เดือน น้ำหนักที่ลดลงจะไม่แตกต่างกัน โดยการรับประทานอาหารที่ให้พลังงานลดลงจากเดิมวันละ 500 กิโลแคลอรี จะทำให้น้ำหนักลดลงประมาณ 0.5 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ และโดยทั่วไปควรจะจำกัดพลังงานที่ได้รับให้อยู่ที่ประมาณ 1,200 กิโลแคลอรีต่อวัน โดยอาหารที่รับประทานควรให้มีปริมาณของสารอาหารครบถ้วน เลือกรับประทานข้าวไม่ขัดสี ธัญพืช ผักหลากสี และผลไม้

สำหรับการคำนวณพลังงานจากอาหารสามารถทำได้คร่าวๆ โดยแบ่งอาหารเป็น 6 หมวดดังนี้

หมวดข้าว แป้ง เช่น ข้าว 1 ทัพพี ขนมปัง 1 แผ่น ก๋วยเตี๋ยว 1 ทัพพี คิดเป็นพลังงาน 80 กิโลแคลอรี

หมวดผัก เป็นหมวดที่ให้พลังงานน้อย แต่ให้เลือกรับประทานผักใบ หลีกเลี่ยงผักที่เป็นหัว

หมวดผลไม้ ให้พลังงาน 60 กิโลแคลอรี ต่อ 1 ส่วน เช่น แอปเปิ้ล 1 ลูก กล้วยน้ำว้า 1 ผล ชมพู่ 3 ผล สัปปะรด 6 ชิ้นพอคำ เป็นต้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการรับประทานผลไม้ปริมาณมากไม่สามารถทำให้น้ำหนักลดลง

หมวดโปรตีน ให้เน้นเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน

หมวดนม ถ้าดื่มนมต้องเป็นนมขาดมันเนยเพื่อลดพลังงานลง

หมวดไขมัน เป็นอาหารที่ให้พลังงานมากที่สุดคือ น้ำมัน 1 ช้อนชาให้ 45 กิโลแคลอรี ดังนั้นต้องหลีกเลี่ยงของมัน ของทอด


นอกจากนี้อาหารประเภทผัดหรือทอดจะให้พลังงานสูงกว่าอาหารที่ต้ม นึ่ง เช่น ก๋วยเตี๋ยวน้ำ 1 ชาม (350 กิโลแคลอรี) จะให้พลังงานน้อยกว่าก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ๊ว 1 จาน (600 กิโลแคลอรี)

น้ำตาล 1 ช้อนชาให้พลังงาน 20 กิโลแคลอรี ซึ่งเครื่องดื่มส่วนใหญ่มีน้ำตาล 3-6 ช้อนชา เช่น นมเปรี้ยว ยาคูลท์ กาแฟกระป๋อง เป็นต้น
ผู้ที่ตั้งใจลดน้ำหนักจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวานจัด รสมันจัด เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล และในผู้ที่ควบคุมอาหารควรได้แคลเซียมและวิตามินทดแทนโดยควรปรึกษาแพทย์

2. การออกกำลังกาย การออกกำลังกายที่ดีจะสามารถลดน้ำหนักตัวและควบคุมน้ำหนักตัวที่ลดลงไม่ให้กลับ
เพิ่มขึ้น โดยควรออกกำลังกายชนิดแรงถึงปานกลางเป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5-7 วันต่อสัปดาห์ ในกรณีที่ออกกำลังกายต่อเนื่องไม่ไหว ให้แบ่งเป็นช่วงๆ ช่วงละ 10 -15 นาที และทำ 3-4 ครั้งต่อวัน โดยการออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อ ถึงแม้น้ำหนักจะไม่ลดลง แต่ก็ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น อย่างไรก็ดี พลังงานที่ใช้ไปในการออกกำลังกายในแต่ละอย่างอาจไม่มากเท่าที่คิด เช่น เดินช้าจะใช้พลังงาน 150 กิโลแคลอรีต่อชั่วโมง เดินธรรมดา 300 กิโลแคลอรีต่อชั่วโมง เดินเร็ว 420-480 กิโลแคลอรีต่อชั่วโมง ขี่จักรยาน 250-500 กิโลแคลอรีต่อชั่วโมงเป็นต้น จะเห็นว่าการนำพลังงานออก 500 กิโลแคลอรีเป็นเรื่องทำได้ยาก เมื่อเปรียบเทียบการรับประทาน หรือการนำพลังงานเข้า 500 กิโลแคลอรี

3. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม สามารถ ทำได้ด้วยการปรับปรุงนิสัยการบริโภค เช่น ควรรับประทานเฉพาะเวลาอาหาร งดการรับประทานเวลาดูโทรทัศน์ และรับประทานอาหารช้าๆ ไม่ควรปล่อยให้หิวจัด เพราะจะทำให้รับประทานมาก เป็นต้น นอกจากนี้การจดบันทึกอาหารที่รับประทานจะช่วยให้ไม่รับประทานมาก

4. ยาลดน้ำหนัก ปัจจุบันมียา Orlistat เพียงชนิดเดียวที่ได้รับการยอมรับจากองค์การอาหารและยาให้ใช้ได้นาน 2 ปี ยาออกฤทธิ์โดยลดการดูดซึมไขมันจากลำไส้เล็กร้อยละ 30 โดยควรรับประทานพร้อมอาหารในขนาด 120 มิลลิกรัม วันละ 3 เวลา แต่มีผลข้างเคียงคือถ่ายอุจจาระบ่อย ยาอาจลดการดูดซึมของวิตามินที่ละลายในไขมัน เช่น วิตามินเอ ดี อี เค และพบว่าสามารถลดระดับไขมันแอลดีแอล ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี ได้จากการลดการดูดซึมของคอเลสเตอรอล

5. การผ่าตัด การผ่าตัดเพื่อควบคุมน้ำหนักตัวในคนที่อ้วนมาก (ดัชนีมวลกายมากกว่าหรือเท่ากับ 40 กิโลกรัม/เมตร2) หรือในคนที่มีดัชนีมวลกาย 35-39.9 กิโลกรัม/เมตร2 ร่วมกับภาวะแทรกซ้อนของโรคอ้วนอย่างน้อยหนึ่งอย่าง เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจล้มเหลว โรคเบาหวาน หรือโรคหยุดหายใจขณะนอน (Obstructive sleep apnea) ผู้ที่ต้องการผ่าตัดควรต้องปรึกษาแพทย์ และควรเข้าใจวิธีการปฏิบัติตนทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด

 

การคงน้ำหนักตัวหลังลดแล้ว
การทำให้น้ำหนักที่ลดลงได้แล้วไม่กลับมาเพิ่มขึ้นใหม่ ถือว่าเป็นเรื่องยากกว่าการลดน้ำหนัก เนื่องจากร่างกายจะปรับตัวใช้พลังงานลดลง ดังนั้นนอกจากการควบคุมอาหารแล้ว การควบคุมน้ำหนักตัวยังต้องเพิ่มการออกกำลังกาย 60 นาทีต่อวันอีกด้วย และควรทำให้ได้ทุกวัน

ขอบคุณข้อมูลจาก healthtoday


   
King Pharma & Nutrient Company Limited.
Home About Us Product/Servives Machine/Technology Our Customers News/FAQ Health/
Beauty Aecret
Contact Us